สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำในการปิดบัญชีคือการกระทบยอดรายได้ตามบัญชีหรือ ภ.ง.ด.50 กับยอดขายในภ.พ.30 เนื่องจากการรับรู้รายได้มีความแตกต่างกัน เช่น บางกรณีรายได้ทางบัญชีรับรู้ไปแล้ว แต่ยังไม่ถือเป็นยอดขายที่นำไปยื่นแบบภ.พ.30 บางกรณีทางบัญชีถือเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถือว่าเป็นรายการขายในแบบ ภ.พ.30

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจจะขอยกตัวอย่างการกระทบยอดสำหรับกิจการขาย และกิจการให้บริการว่าผลต่างอาจเกิดจากอะไรบ้าง
สำหรับกิจการขาย

ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีผลต่าง เนื่องจากการรับรู้รายได้ทางการบัญชี กับการยื่นยอดขายใน ภ.พ.30 จะตรงกัน
ผลต่างที่พบอาจเกิดจาก
+เงินมัดจำค่าสินค้า ซึ่งจะนำยื่นยอดขายใน ภ.พ.30 แล้ว แต่ยังไม่รับรู้เป็นรายได้ทางบัญชี
+สินค้าขาดหายจากสต็อค ซึ่งถือว่าเป็นการขายจึงได้ยื่นยอดขายใน ภ.พ.30 แต่ในทางบัญชีจะถือว่าเป็นค่าใช้จ่าย

+การส่งออก การขายต่างประเทศส่งออกโดยเรือเดินทะเล ในทางบัญชีจะรับรู้รายได้ตาม incoterm แต่ในการยื่นยอดใน ภ.พ.30 จะรับรู้เมื่อมีการออกใบขนสินค้าขาออก (ตามมาตรา 78(4))
กิจการที่มีทั้งยอดขายในประเทศและส่งออก ในการกระทบยอดควรจะแยกยอดขายที่มีภาษี vat7 และ vat 0

สำหรับกิจการให้บริการ

ในทางบัญชีรายได้จากการบริการจะรับรู้เป็นรายได้ตามส่วนงานที่ทำเสร็จหรือให้บริการแล้ว ต่างจากยอดขายที่ยื่นใน ภ.พ.30 ซึ่งยื่นเมื่อได้รับชำระเงินแล้ว ดังนั้นจะมีผลต่างเป็นปกติ ซึ่งต้องทำการกระทบยอด
ผลต่างที่พบอาจเกิดจาก
+ลูกหนี้คงเหลือ รับรู้เป็นรายได้ทางบัญชีแล้ว แต่เนื่องจากลูกหนี้ยังไม่ได้จ่ายชำระ จึงยังไม่ได้ยื่นยอดขายในภ.พ.30
+ลูกหนี้คงเหลือที่ได้รับชำระในระหว่างงวด เมื่อได้รับชำระในงวดจึงเป็นยอดขายในระหว่างงวดนำส่ง ภ.พ.30 แต่รายได้ทางบัญชีรับรู้ตั้งแต่ปีก่อนแล้ว
+รายได้ค้างรับ บัญชีนี้อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากงานบริการที่กิจการทำแล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้แจ้งหนี้กับลูกค้า บัญชีนี้เช่นเดียวกับลูกหนี้ คือมีการรับรู้เป็นรายได้ทางบัญชีแล้ว แต่ยังไม่ต้องยื่นยอดขายในแบบ ภ.พ.30
+สำหรับบัญชีลูกหนี้คงเหลือ และรายได้ค้างรับ ในการกระทบยอดจะต้องหักมูลค่าภาษีที่รวมอยู่ออกก่อน ง่ายๆก็คือ หารออกด้วย 1.07
+เงินมัดจำค่าบริการ เมื่อกิจการได้รับเงินมัดจำที่เรียกเก็บจากลูกค้า กิจการจะต้องยื่นยอดขายใน ภ.พ.30 แต่ยังไม่รับรู้เป็นรายได้ทางบัญชี เนื่องจากยังไม่ได้ให้บริการ

การสร้างผังบัญชีรองรับรายได้แต่ละประเภท
การมีผังบัญชีที่รองรับรายได้แต่ละประเภทที่มีการรับรู้ภาระภาษีต่างกัน เช่น รายได้จากการขาย รายได้จากการบริการ รายได้ตามประเะภทยอดขาย VAT0 ยอดขายNonVAT หรือยอดขายที่ต้องเสียภาษี VAT7 มันช่วยให้การกระทบตรวจสอบยอดขายง่ายขึ้น เช่น
บัญชีรายได้
- 4xxx-01 รายได้จากการขายในประเทศ — ยอดขายที่ต้องเสียภาษี VAT7
- 4xxx-02 รายได้จากการขายต่างประเทศ — ยอดขาย VAT0
- 4xxx-03 รายได้จากการบริการ — ยอดขายที่ต้องเสียภาษี VAT7
- 4xxx-04 รายได้ค่าเช่า — ยอดขายNonVAT
บัญชีลูกหนี้
- 1xxx-01 ลูกหนี้ขายเชื่อ — ไม่ต้องเอามากระทบยอด
- 1xxx-02 ลูกหนี้ค่าบริการ — ถอด VAT แล้วเอามากระทบยอดเสียภาษี VAT7
- 1xxx-04 ลูกหนี้ค่าเช่า — ไม่มี VAT นำทั้งจำนวนมากระทบยอด NonVAT
จากที่ยกตัวอย่างคาดว่าจะนำไปต่อยอดให้เหมาะสมกับกิจการที่แต่ละคนดูแลอยู่ การกระทบยอดรายได้เป็นการตรวจสอบความถูกต้องในเบื้องต้นว่ารายได้นั้นมีการยื่นภาษีครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งตัวนี้เวลากรมสรรพากรตรวจมักจะเรียกหา นักบัญชีมือหนึ่งอย่างเราๆ จึงควรทำประกอบการปิดบัญชีค่า…สำหรับนักบัญชีที่ยังไม่มีไฟล์คลิกเลย ตารางสรุป ภ.พ.30 พร้อมคำนวณภาษีต้องชำระ/ภาษีเกิน ในแต่ละเดือนอัตโนมัติ
ลิงค์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม