
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
หากคุณมีธุรกิจ และอยากจะสร้างตัวตนให้ธุรกิจของคุณแยกออกจากบุคคลธรรมดา การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทก็จะเป็นการสร้างให้ธุรกิจมีตัวตนในรูปแบบนิติบุคคล แยกออกจากคุณซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เมื่อกิจการมีตัวตนทางกฎหมายแล้ว คุณในฐานะของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของ มีหน้าที่อะไรบ้าง สรุปคร่าวๆ ดังนี้
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
หลังจากมีผู้เข้าร่วมก่อตั้งบริษัท ประชุมหารือกัน กำหนดรายละเอียดบริษัท ที่ตั้ง สำนักงาน วัตถุประสงค์ กำหนดกรรมการ และอำนาจการลงนามแทนนิติบุคคล กำหนดข้อบังคับบริษัท อาจจะกำหนดงวดบัญชีว่าสิ้นรอบบัญชีเมื่อใด (ตามปกติจะกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม) รวมถึงจัดหาผู้สอบบัญชี เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วนำเอกสารไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้เลย
เมื่อจ้างพนักงาน
ต่อมาในช่วงเดือนก.ย. บริษัทจ้างพนักงาน 1 คน สิ่งที่ต้องทำคือไปขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคม ภายใน 30 วัน
ยอดรายได้เกิน 1.8 ล้าน
กิจการมียอดขายต่อเนื่อง รวมยอดรายได้ ถึง 1.8 ล้านบาทหรือไม่ ถึงแล้วก็มีหน้าที่ไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ตามที่อยู่สำนักงานใหญ่ที่บริษัทนั้นอยู่ หรือสะดวกออนไลน์ก็จดผ่านอินเตอร์เน็ตก็ได้ (อาจจะมีเจ้าหน้าที่สรรพากรไปตรวจเยี่ยม)
1.8 ล้านบาท รวมยอดอย่างไร |
-เป็นยอดขาย ไม่ใช่กำไรหลังหักค่าใช้จ่าย |
-นับจากวันเริ่มงวด จนถึงวันสิ้นงวดบัญชี จัดตั้งบริษัทต้นเดือนก.ค. บวกรวมรายได้ไปเรื่อยๆ นับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. ยังไม่ถึงเกณฑ์ ไม่ต้องจด งวดบัญชีใหม่ 1 ม.ค. เริ่มนับใหม่ |
-เกณฑ์ในการนับยอดรายได้ ไม่ใช่เกณฑ์เงินสด หรือ คงค้าง แต่มันคือ เกณฑ์ตาม tax point เงินเข้ามาเท่าไหร่ นับว่าเป็นรายได้เท่านั้น — เรียกว่าเกณฑ์เงินสด เมื่องานเสร็จ /ขายของก็ส่งมอบของให้ลูกค้าแล้ว ถือว่ามีรายได้แล้ว —- เรียกว่าเกณฑ์คงค้าง เกณฑ์ตาม tax point คือจุดที่ต้องออกใบกำกับภาษี ถ้าเป็นกิจการขายของ ก็เอาเป็นว่าดูตามเกณฑ์คงค้างที่บัญชีบันทึกนั่นแหละ ส่วนกิจการให้บริการ ถึงบัญชีบันทึกรายได้เข้ามา แต่ให้ดูจากยอดเงินรับที่ได้รับแทน |
เตรียมเอกสารปิดบัญชี
ในกรณีนี้ สมมติว่า บริษัทกำหนดวันที่สิ้นงวดเป็น 31 ธ.ค. กิจการจะต้องจัดเตรียมเอกสารปิดบัญชี ซึ่งนักบัญชีควรปิดบัญชีเสร็จและให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบให้เสร็จภายใน 4 เดือน นับจากวันสิ้นงวด 31 ธ.ค. คือวันที่ 30 เม.ย.
สรุปเงินเดือนค่าจ้างที่บริษัทจ่ายในปีก่อน
สรุปเงินที่จ่ายให้พนักงานประจำ/ผู้ที่ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทน ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. ไม่ว่าจะจ่ายบริษัทจะปิดงวดบัญชีเมื่อไหร่ ต้องสรุปยื่นภายในสิ้นเดือนก.พ. นอกจากนั้นยังมีการสรุปแบบ กท 20 ก นำส่งให้สำนักงานประกันสังคมพร้อมกันด้วย
ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ค่าตอบแทนที่กรรมการได้รับจากบริษัทนำมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายใน 3 เดือน นั่นคือสิ้นเดือน มี.ค. *ทั้งนี้หากยื่นทางอินเตอร์เน็ตจะได้รับการขยายเวลาไปอีก 8 วัน
ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงิน
หลังจากปิดบัญชีเสร็จ ผู้สอบบัญชีให้การรับรองงบการเงินเรียบร้อยแล้ว บริษัทต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือน นั่นคือสิ้นเดือนเม.ย.
หลังประชุมแล้ว กฎหมายกำหนดให้ส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นภายใน 14 วัน และส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ภายใน 1 เดือน หากประชุมช้าสุดตามที่กฎหมายอนุญาตคือสิ้นเดือนเม.ย. บริษัทต้องยื่นงบภายในสิ้นเดือนพ.ค.
นอกจากจะต้องยื่นและจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นปี (แบบภงด.50 พร้อมงบการเงิน) ต่อกรมสรรพากร ภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นงวด ถ้าสิ้นงวดวันที่ 31 ธ.ค. จะต้องส่งแบบภ.ง.ด.50 ภายในวันที่ 30 พ.ค. สำหรับปีที่เดือนก.พ.มี29 วัน จะต้องส่งแบบภายในวันที่ 29 พ.ค. *ทั้งนี้หากยื่นทางอินเตอร์เน็ตจะได้รับการขยายเวลาไปอีก 8 วัน
ประมาณรายได้-ค่าใช้จ่ายทั้งปียื่นภาษีครึ่งปี
กิจการจะต้องประมาณรายได้-ค่าใช้จ่ายทั้งปี เพื่อยื่นและจ่ายภาษีครึ่งปี แบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับจากวันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี หรือภายในวันที่ 31 ส.ค. นั่นเอง *ทั้งนี้หากยื่นทางอินเตอร์เน็ตจะได้รับการขยายเวลาไปอีก 8 วัน
แล้วในแต่ละเดือนละมีกำหนดเวลาการยื่นภาษีและประกันสังคมเมื่อไหร่บ้าง

ยกตัวอย่าง เดือนกรกฎาคม จะนำยอดที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน มายื่นแบบในวันที่ 7 และวันที่ 15 *หากยื่นทางอินเตอร์เน็ตจะได้รับการขยายเวลาไปอีก 8 วัน
หลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว กรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแทนบริษัท จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้น ก็จะมีโทษและเบี้ยปรับได้นะคะ